ในขณะที่เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญทางเศรษฐกิจอีกครั้ง เมื่อความเสี่ยงรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้า ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ หรือภาระหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้น กำลังรุมเร้าเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในทุกมิติ

ประเทศไทยเริ่มส่งสัญญาณชัดเจนของความเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นการถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงิน การชะลอตัวของนักลงทุนเอกชน รวมถึงการที่ธนาคารโลกหั่นประมาณการณ์ GDP ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เหล่านี้คือภาพสะท้อนว่าประเทศต้องเร่ง “รีเซ็ต” แนวทางการวางแผนนโยบายการเงินการคลังใหม่อย่างจริงจัง

ภายใต้แรงกดดันดังกล่าว บทบาทของกระทรวงการคลังไม่อาจจำกัดอยู่เพียงการดูแลสมดุลงบประมาณอีกต่อไป แต่ต้องก้าวสู่การเป็น “สมองใหญ่” ของเศรษฐกิจไทย ที่สามารถคิดกลยุทธ์ล่วงหน้า คาดการณ์ความเสี่ยง และตอบสนองอย่างยืดหยุ่นต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ภาษีไม่ใช่แค่เก็บเพิ่ม แต่ต้อง “เก็บเพื่อเติบโต”

หนึ่งในโจทย์ใหญ่ที่รอการปฏิรูปอย่างจริงจัง คือ ระบบภาษีของประเทศ ซึ่งไม่สามารถยึดแนวคิดเดิมที่มุ่งเน้นการจัดเก็บเพื่อชดเชยรายจ่ายเท่านั้นอีกต่อไป การออกแบบภาษีในศตวรรษที่ 21 ต้องให้ความสำคัญกับความเป็นธรรม การสร้างแรงจูงใจต่อภาคธุรกิจ และการรับมือกับพฤติกรรมทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

เศรษฐกิจดิจิทัล แรงงานรูปแบบใหม่ การเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ และการหลีกเลี่ยงภาษีของกลุ่มทุนข้ามชาติ ล้วนเป็นความท้าทายที่ระบบภาษีแบบเดิมไม่สามารถรองรับได้อีกต่อไป

การปรับโครงสร้างภาษีจึงต้องตั้งอยู่บนหลักของความโปร่งใส ยืดหยุ่น และสามารถตอบโจทย์การเติบโตในระยะยาว โดยไม่เป็นภาระต่อประชาชนเกินไป ขณะเดียวกันต้องวางแผนระยะสั้น กลาง และยาว อย่างสอดคล้องกัน

ยกระดับ "คลัง" ให้เป็นหน่วยกลยุทธ์เศรษฐกิจของชาติ

เมื่อความไม่แน่นอนกลายเป็น "นิวนอร์มอล" สิ่งที่กระทรวงการคลังต้องทำไม่ใช่เพียงการ “ปรับงบ” หรือ “อัดฉีดเงิน” เท่านั้น แต่ต้องกล้าเปลี่ยนกรอบความคิดแบบเดิม ๆ หันมาใช้ข้อมูลเชิงลึก คาดการณ์ล่วงหน้า และกล้าทดลองแนวทางใหม่ ๆ อย่างรอบคอบ

ในวาระครบรอบ 150 ปีของกระทรวงการคลัง จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการ “ทบทวนบทบาท” และยกระดับองค์กรให้ทันกับความท้าทายแห่งยุค ทั้งในมิติของความสามารถเชิงนโยบาย การประสานงานกับภาคส่วนต่าง ๆ และการเป็นผู้นำในยุทธศาสตร์เศรษฐกิจแห่งอนาคต

เพราะหากเราไม่คิดใหม่ ไม่ปรับตัวในวันนี้ วันข้างหน้าเราอาจไม่มีโอกาสให้ “ตั้งหลัก” อีกครั้งในโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว